✍️การให้ทานให้ได้บุญมากวัดกันอย่างไร ??

➡️พระพุทธศาสนาไม่ได้วัดผลบุญว่า จะได้มากได้น้อยด้วยการตีความว่า ต้องทำบุญด้วยวัตถุเป็นปริมาณมากๆ หรือเป็นตัวเงินมากๆ แต่อย่างใด!!


🌟แต่บุญที่ได้จากทานจะนั้นวัดกันด้วย “ใจหรือเจตนาที่ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข เป็นที่ตั้งใหญ่สุด” 

ต่อมาก็คือ เรื่องวัตถุที่จะให้ทาน อาการของการให้ และสุดท้ายก็คือผู้รับทานนั้นการให้ทาน ให้ได้บุญมากวัดกันอย่างไร


🌟คำว่า เจตนานั้น หมายถึงความประสงค์ หรือเป้าหมายในการทำบุญ ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุ เคยกล่าวเปรียบเทียบเป็นน้ำไว้ 3 แบบคือ

✅1. ทำบุญเหมือนเอาน้ำโคลนมาอาบ
🌟เป็นการทำบุญที่เจือด้วยบาป เช่น การฆ่าสัตว์เบียดเบียนผู้อื่นเพื่อนำมาทำบุญ ล้มวัว ล้มหมู เอามาต้มยำทำแกงหวังจะเอาบุญ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากบาป ก็เหมือนเอาน้ำโคลนมาล้างตัว อาบอย่างไรก็มีกลิ่นเหม็นติดตัวอยู่วันยังค่ำ

🌟การทำบุญแบบนี้ หากจะกล่าวให้เข้าใจจริงๆ อาจเรียกได้ว่า เป็นการทำบุญที่จะได้บาปแทน เพราะแม้เจตนาดีต้องการถวายทานก็ตาม แต่เราต้องไปเบียดเบียนชีวิตผู้อื่นมา หรือแม้แต่บางคนไปจี้ไปปล้นเขามา ไปโกงเขามาทำบุญ หรือใช้วิธีบังคับเบียดบังเอาเงินมาสร้างบุญ

 🌟เรื่องเล่าในอดีตของวัด “คณิกาผล” ที่คนผู้หนึ่งเป็นคนสร้าง โดยเบียดบังเงินค่าตัว ของหญิงคณิกาในสมัยก่อนเก็บเอาไว้เพื่อจะไปสร้างวัด

แม้เจตนาจะดีต้องการทำบุญ แต่เป็นบุญที่เกิดมาจากกองทุกข์ของคนอื่น เมื่อผู้สร้างไปถามครูบาอาจารย์

ถึงเรื่องอานิสงส์ของการสร้างวัดจะเป็นอย่างไร ท่านก็ตอบได้ว่า ได้เพียงเศษเสี้ยวนิดหนึ่งเท่านั้น ทำให้ผู้สร้างเกิดความเสียใจมาก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะการสร้างวัดก็เสร็จไปเรียบร้อยแล้ว น่าสงสารยิ่งนัก

✅2. ทำบุญเหมือนเอาน้ำหอมมาอาบ
🌟เป็นการทำบุญแบบที่หลายๆ คนเข้าใจ ก็คือ หวังผลแห่งบุญแห่งทานว่าจะทำให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน ความสะดวกสบาย ได้มาในลาภยศชื่อเสียง

เปรียบไปแล้วก็เหมือนการเอาน้ำหอมมาอาบ แม้จะสะอาดกว่าน้ำโคลนแต่ก็ยังมีกลิ่นติดตัว คละคลุ้งไม่สะอาดหมดจดจริง ๆ

 🌟มีคนจำนวนมากที่ทำบุญเพราะหวังในผลแห่งบุญ หรือผลแห่งทาน ซึ่งจะว่าไปก็คงเป็นเพราะกมลสันดาน ของปุถุชนมักมีกิเลสเรื่องความต้องการใน โภคทรัพย์และความสะดวกสบายของชีวิต เวลาทำบุญจึงพากันขนของมากมายเข้ามาเต็มวัด เต็มศาลา หลายสิ่งหลายอย่างก็ไม่เป็นประโยชน์กับคณะสงฆ์ กลายเป็นการสร้างภาระให้วัด และพระภิกษุสามเณรไปเสียอีก

บ้างก็ขอโน่น ขอนี่ให้ได้ไปสวรรค์ชั้นนั้นชั้นนี้ หรือหวังอานิสงส มากมายจากการทำบุญ จึงพากันเข้าใจผิดไปด้วยว่า ยิ่งทำแบบให้สิ่งของมากก็จะยิ่งได้บุญมาก ซึ่งไม่เป็นความจริงเลยแม้แต่น้อย

✅3. ทำบุญเหมือนเอาน้ำสะอาดมาอาบ

🌟เป็นการทำบุญที่ได้บุญมากที่สุด เพราะเจตนาเพื่อละกิเลส ถ่ายถอนความตระหนี่ถี่เหนียว ในจิตใจ ไม่ได้หวังในผลใดนอกเหนือจากนี้ อุปมาแล้วก็เหมือนการอาบน้ำด้วยน้ำสะอาด เมื่ออาบแล้วก็รู้สึกสดชื่นร่างกายสะอาดอย่างแท้จริง

 🌈อย่างที่สองคือเรื่อง “วัตถุทาน”
พระพุทธศาสนากล่าวถึงเรื่องวัตถุที่จะนำมาทำบุญ ไว้หลายด้าน ขอให้เข้าใจว่า วัตถุทาน ที่จะทำให้ได้บุญมากนั้นเกิดจาก

✅1. วัตถุสิ่งของนั้นเป็นของที่เราได้มาอย่างซื่อสัตย์สุจริต
คือหามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงเราเองไม่ได้เบียดบังใครมาข้อนี้สำคัญที่สุดเรื่องของวัตถุ

✅2. วัตถุสิ่งของนั้น ก็ควรจะเป็นของที่ประณีต อย่างน้อยก็เป็นระดับเดียวกับผู้ที่ให้ทานนั้นกินหรือใช้อยู่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า พระท่านอยากจะได้ของดี ๆ จากญาติโยมไปใช้ แต่หมายถึง วัตถุทานที่มีคุณภาพจะเป็นประโยชน์ต่อการบำรุงพระพุทธศาสนาได้จริง ไม่เป็นภาระกับพระ หรือผู้ที่ปฏิบัติธรรม

🌟ของที่ประณีตนั้นจะบ่งบอกถึงความสามารถ ของจิตใจในการสละสิ่งของเพื่อละกิเลสได้ดีกว่า คนที่ให้ทานแต่ยังตระหนี่อยู่ มักจะให้ของเลวกว่าตนเองใช้ ขณะที่ คนที่ทำทานแบบไม่มีความตระหนี่ จะสามารถให้ของดีได้ ไม่หวงแหนไว้ เป็นการวัดกันเรื่องใจอีกเช่นกัน

🌈อย่างที่สามคือ “อาการของการให้”
คนที่อยากจะให้ทานจริง กับคนที่ไม่เต็มใจจะให้ทาน จะออกอาการต่างกันในภาษาพระเรียกว่า “สัปปุริสทาน” แต่ ขอกล่าวเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าคนที่ให้ด้วยอาการเคารพ ยกของทูลขึ้นหัวและ
น้อมให้ด้วยกิริยาเคารพอย่างเต็มใจ ย่อมได้บุญมากกว่า คนที่ให้แบบโยนของแบบส่ง ๆให้แน่นอน 

เพราะจิตใจของคนที่เต็มใจให้จะแช่มชื่นเบิกบานมากกว่า คนที่ให้แบบส่ง ๆชุ่ย ๆ เหมือนไม่เต็มใจจะให้

🌈อย่างสุดท้ายก็คือ “ ผู้รับทาน”
นั้นเป็นผู้ที่เหมาะสมจะรับทาน คือเป็นคนดีมีศีลธรรม ยิ่งมีศีลธรรมมากก็จะยิ่งได้บุญมากเป็นลำดับ

🌟ลองเปรียบเทียบว่า หากเราได้ให้ทานกับ โจรที่บาดเจ็บ ให้ข้าวให้น้ำรักษาตัวจนหาย แล้วมันก็ออกไปปล้นชิงชาวบ้านสร้างความเดือดร้อนต่อ ก็ย่อมได้บุญน้อย แต่หากเป็นผู้ที่มีศีลธรรม เป็นนักปราชญ์
เมื่อช่วยเหลือให้ทานเขาแล้ว เขาก็จะนำตนเองไปสร้างประโยชน์ สร้างความเจริญให้กับผู้อื่นและสังคม ผู้ที่ทำบุญช่วยเหลือคนดีเอาไว้ก็ย่อมได้บุญมาก

 🌟ข้อนี้เป็นคำตอบว่าเหตุใดเอกสาฎกพราหมณ์ จึงได้ผลบุญมากมายก็เพราะผู้รับทานของตนเอง เป็นถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้มีบุญคุณสูงสุดกับโลกนี้ ผลบุญจึงมากมายตามไปด้วย

🌟ปัจจัยทั้ง 4 ข้อเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในการทำบุญด้วยทานให้มีผลอานิสงส์มาก บุญมากหรือน้อยวัดกันที่ “เจตนาเป็นหลักใหญ่สุด” ที่สำคัญอย่าได้ทำบุญแบบขาดสติปัญญาทุ่มหมดหน้าตัก จนทำให้ตนเองไม่มีกิน หรือผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญไปด้วยแทนที่จะได้บุญจะได้บาปไปแทน

📝จากหนังสือเรื่อง สร้างบุญบารมีอานิสงส์สูง
ไม่เสียเงินแม้แต่สลึกเดียว โดย จิตตวชิระ
-----------------
#...Panyawa...#
//////////////////
line@ศูนย์อบรมเยาวชนเพชรบุรี
-----------------
URL: http://line.me/R/home/public/post?id=xxp5405b&postId=1149791758610022331
-----------------
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1896221897327893&id=1564154067201346&substory_index=0
✍️การให้ทานให้ได้บุญมากวัดกันอย่างไร ?? ✍️การให้ทานให้ได้บุญมากวัดกันอย่างไร ?? Reviewed by Unknown on 00:43 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.