มาทำความรู้จักกับความหมาย 4 อย่าง ของคำว่า “กฐิน”


 "กฐิน" มีความหมายเกี่ยวเนื่องถึง ๔ ประการ คือ

 ๑. กฐิน หมายถึง ไม้สะดึง คือกรอบไม้แบบชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง เพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับใช้เป็นเครื่องมือเย็บจีวรซึ่งมีลักษณะเป็นวงกลม เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง


ในสมัยก่อนการเย็บจีวรต้องใช้ไม้สะดึงขึงให้ตึงก่อนแล้วจึงเย็บ เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมือนสมัยปัจจุบันนี้

การทำจีวรในสมัยโบราณ ทั้งที่เป็นผ้ากฐินและมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเองก็จัดเป็นงานที่เอิกเกริกเลยทีเดียว มีเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ ว่า : 

ครั้งเมื่อพระอนุรุทธเถระได้ผ้าบังสุกุลมาและจะทำจีวรเปลี่ยนผ้าครองสำรับเก่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบและเสด็จไปเป็นประธานในวันนั้นพร้อมพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป และพระอสีติมหาสาวก

 เพื่อร่วมกันช่วยทำ โดยมีพระมหากัสสปเถระนั่งอยู่ต้นผ้า พระมหาสารีบุตรเถระนั่งอยู่ท่ามกลาง พระอานนทเถระนั่งอยู่ปลายผ้าพระภิกษุสงฆ์ช่วยกันกรอด้าย

 พระบรมศาสดาทรงสนเข็ม พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นผู้อุดหนุนกิจการทั้งปวง แสดงถึงพลังความสามัคคีของพระภิกษุสงฆ์ อันเป็นพระพุทประสงค์ในการทำผ้ากฐิน

   ๒. กฐินที่เป็นชื่อของผ้า หมายถึง ผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล ๑ เดือนนับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒



 ผ้าที่ถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาดผ้าเก่า ผ้าบังสุกุลคือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว ผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าตกตามร้านก็ได้ 

ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นภิกษุหรือสามเณรก็ได้ เมื่อถวายแด่สงฆ์แล้วก็เป็นอันใช้ได้

     ๓. กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือการทำบุญ คือการถวายผ้ากฐินเป็นทานแด่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ ๓ เดือน



เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด

 การทำบุญถวายผ้ากฐินหรือที่เรียกว่า “ทอดกฐิน” คือทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำถวายในท่ามกลางสงฆ์

 เรียกได้ว่าเป็นกาลทาน คือ การถวายทานที่ทำได้เฉพาะกาล ๑ เดือน ถ้าถวายก่อนหน้านั้นหรือหลังจากนั้นไม่เป็นกฐิน ท่านจึงถือว่าหาโอกาสทำได้ยาก

  ๔. กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม คือกิจกรรมของสงฆ์ ซึ่งจะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง



 เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลายทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยาก และไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน ๑๐ วัน

 แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้ว ทรงอนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บผ้าไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาวอีก ๔ เดือน (จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน๔) 

ช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลงานบุญ กฐิน ขอเชิญชวนชาวพุทธทุกคน ขวนขวายสร้างบุญใหญ่ ด้วยการทอดกฐิน ณ วัดใกล้บ้าน 

กำหนดกฐินกาล ปี 2559 นี้ เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2559 ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 

ถึงวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันสุดท้าย (วันลอยกระทง)

ขอบคุณภาพจาก google.com
Cr.kalyanamitra
มาทำความรู้จักกับความหมาย 4 อย่าง ของคำว่า “กฐิน” มาทำความรู้จักกับความหมาย 4 อย่าง ของคำว่า “กฐิน” Reviewed by Unknown on 21:43 Rating: 5

12 ความคิดเห็น:

  1. เข้าใจกันแล้วนะคะ

    ตอบลบ
  2. สาธุสาธุเจ้าค่ะ

    ตอบลบ
  3. อนุโมทนาสาธุครับ..

    ตอบลบ
  4. อนุโมทนาสาธุครับ..

    ตอบลบ
  5. อนุโมทนาบุญกับความรู้ที่นำมาแบ่งปัน สาธุๆๆค่ะ

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ30 ตุลาคม 2559 เวลา 07:11

    สาธุ อนุโมทนาที่ให้ความรู้เจ้าค่ะ

    ตอบลบ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.