วันพุธที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ผลของการสวดธัมมจักร และการชวนคนมาสวดธัมมจักร !!

ผลของการสวดธัมมจักร และการชวนคนมาสวดธัมมจักร ผู้ชวน ผู้สวด จะได้ผลบุญดังนี้ ..



  1.  ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ วิญญาณธาตุ อากาศธาตุจะถูกปรับ ถูกทำให้สะอาด ซึ่งมีผลทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น

  2. ธรรม คือ เห็น จำ คิด รู้ จะถูกกลั่นให้บริสุทธิ์ จนสามารถร้อยรวมกันเป็นหนึ่ง เป็นดวงเดียวกันได้ ส่งผลให้คิดดี ทำดี พูดดี และรองรับบุญศักดิ์สิทธิ์ได้

  ทำให้บุญเก่าส่งมาหล่อเลี้ยงและปรับให้เพิ่มปริมาณได้ ปรับให้บุญทุกบุญเป็นบุญศักดิ์สิทธิ์ได้ทุกประการ สองส่วนข้างบนนี้ คือ ผู้สวดเองจะได้นะคะ  ส่วนเรื่องของบุญ เป็นดังนี้

  เนื่องเพราะบทธัมมจักร เป็นบทที่เทวดาตั้งแต่ต่ำสุด จนสูงสุดจะฟังได้ จะเข้าใจไปตามสภาพ ไม่มีกำลังใดสามารถอาจขวางกำลังของธัมมจักรได้  ทำให้ดวงจิต ดวงวิญญาณทั้งหลายที่ได้ยิน พากันได้บุญ พากันอนุโมทนา

 ผู้สวดก็จะกลายเป็นว่าเป็นผู้เอื้อประโยชน์ให้ เท่ากับได้เป็นผู้ให้ ซ้ำการสวดเป็นการใช้แรง ใช้เวลา จึงทำให้เป็นบารมีอ่อนๆ ไปในขณะเดียวกัน 

  และเมื่อมีคนได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นผี เทวดา ก็จะถูกทำให้สะอาดไปด้วยกัน จึงส่งผลให้ เทวดา ผีสางทั้งหลายพากันเกรงใจผู้สวด พากันช่วยเหลือดูแล ดิน ฟ้า อากาศ น้ำ ก็จะพลอยสะอาดไปด้วยตามส่วน ทบกลับเป็นบารมีของผู้สวดเอง แต่เนื่องจาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจำนวนมากมาย การจะแก้ไขสังสารวัฏ จึงต้องใช้กำลังของพระพุทธเจ้า ทั้งหลายมารวมกัน

  การสวดหนึ่งบท เท่ากับหนึ่งพระองค์ แต่สัมมาสัมพุทธเจ้า มีจำนวนเป็นอสงไขยทีเดียว เราจึงจำเป็นต้องชะลออำนาจบารมี ของแต่ละองค์ลงมา

 ด้วยการสวดเป็นจำนวนมาก แล้วแต่ว่าองค์ใดจะลงมา แต่ทุกบทจะลงมาทุกองค์ คำว่าลงมา หมายถึง ส่งกำลัง ส่งบารมี ส่งรู้ส่งญาณลงมาช่วยเหลือ จากใจถึงใจ ทำให้ใจมีกำลัง

 ใจที่ต้นเหตุของสิ่งทั้งหลายก็จะกลายเป็นศูนย์พลังที่มีอำนาจดึงดูดแต่สิ่งดีงาม มาสู่ตามพื้นบุญเดิมของตน ผู้สวด จึงได้บุญมหาศาล


Cr. กลุ่มไลน์

วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์อยากจะทำอะไร??

อ่านธรรมะวันละนิด จิตแจ่มใส เป็นเรื่องราวที่น่าศึกษาอีกเรื่องหนึ่งค่ะ..

🌸ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์อยากจะทำอะไร🌸
เทวดา ตอบว่า"เราจะพิจารณาธรรม เพราะมนุษย์มีกายสังขาร ที่เหมาะกับการพิจารณาธรรมมาก ร่างกายของมนุษย์เป็นเครื่องมือที่ใช้พิจารณาธรรมได้ดีที่สุด น่าอิจฉาพวกมนุษย์จริงๆ"



พญานาค ตอบว่า"บวชสิ ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะบวช ... เป็นพญานาคมีฤทธิ์มากก็จริง แต่บวชไม่ได้ พ้นทุกข์ไม่ได้ ไม่เหมือนมนุษย์ พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้นาคบวช แต่มนุษย์บวชได้ มนุษย์ไปนิพพานได้ แสนประเสริฐ"

พระภูมิเจ้าที่ ตอบว่า"ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง คราวนี้เราจะไปทำบุญใส่บาตรทุกวัน ไม่ต้องมานั่งรอคนอุทิศส่วนกุศลมาให้เราอีก ไปทำเองเลย เพิ่มบารมีได้เร็วทันใจดี"

สัตว์เดรฉาน ตอบว่า"ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะสงเคราะห์สัตว์ตัวอื่นๆ ... เป็นสัตว์นั้นทุกข์มาก พูดก็ไม่ได้ คิดอะไรฉลาดๆ ก็ไม่ได้ ... เป็นมนุษย์มีสมอง มีปัญญา เราจะใช้ปัญญาของมนุษย์ทำให้ตัวเองไม่ต้องมาเป็นสัตว์อีก"

เปรต ตอบว่า"เราไม่อยากมีหน้าตาน่าเกลียด ไม่อยากมีปากเท่ารูเข็ม มีรูปร่างสูงเหมือนต้นตาล ... ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะถือศีล จะได้ไม่ต้องมาเป็นเปรตผู้หิวโหย อดๆ อยากๆ ทนทุกข์ทรมานแบบนี้"

สัตว์นรกในอเวจี ตอบว่า"ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะทำความดี จะไม่ผิดศีลอีก จะปฏิบัติธรรม ... เพราะนรกมันร้อน มันโหดร้าย อยู่แล้วมีแต่ความเจ็บปวด ทุรนทุราย ... ถ้าข้ามีโอกาสอีกครั้ง เราจะไม่ทำเลว เราไม่อยากทรมาน ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นสัตว์นรกอีก"

แต่เมื่อถามคำถามเดียวกัน มนุษย์ตอบว่า.....อยากรวย..!!!!!

อนิจจาใครหนอน่าสงสารที่สุด!!

มนุษย์ผู้ที่อยากรวยแต่ทรัพย์สมบัติภายนอก ทั้งที่มีโอกาสจะทำบุญกุศลมากกว่าเพื่อน ทำให้มีอริยทรัพย์คือทรัพย์อันประเสริฐเป็นของติดตัว อยู่ภายในใจ มี ๗ สิ่งคือ สัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา

Cr.N/a

เส้นทางบุญ
@Pathofboon

วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

✍️ทำความสะอาดจิต.. อย่างละเอียดด้วยการเจริญภาวนา

🌟การถือศีลนั้นแม้ว่าจะเป็นการชำระจิต ให้สะอาดที่มากกว่าทานหลายเท่า !! 

แต่ก็ยังถือว่า เป็นการทำความสะอาดจิตอย่างอะเอียด ด้วยการเจริญภาวนา!

 ชำระจิตให้สะอาดด้วยข้อปฏิบัติทางกาย และวาจา ไม่ให้หลุดออกมา และทำให้ดูนิ่งเป็นปกติเท่านั้น.



 หากว่ากันในหลักวิทยาศาสตร์จิตวิทยา คือสามารถควบคุม และชำระจิตใจได้ในส่วนที่เป็นจิตรู้สำนึกและจิตก่อนสำนึก ส่วนที่เป็น “จิตใต้สำนึก” นั้น ศีลยังไม่อาจจะควบคุม หรือทำให้สะอาดบริสุทธิ์ได้เพียงพอ

🌟การเจริญภาวนาในแบบวิธีแห่งพุทธศาสนา เป็นการทำความสะอาดจิตอย่างละเอียด เป็นการซักฟอกจิตให้สะอาดจนถึงที่สุด คือ ให้จิตเบาบางไปจากสิ่งปรุงแต่ง (กิเลสทั้งหลาย)

 จนกระทั่งหมดไปในที่สุด เมื่อทำการซักฟอกจิตใจจนหมดกิเลสแล้ว มันก็ไม่มีอะไรปรุงแต่งอยู่ในจิตอีก จิตก็ว่างเปล่าไม่อาจจะนำไปก่อกรรมสร้างกรรมไม่ดีใดๆ คือ ไม่อาจจะสร้างเจ้ากรรมนายเวรได้อีกต่อไป

🌟ที่บอกว่า การเจริญภาวนาด้วยสมาธิ และเจริญปัญญานั้นจะเป็นการทำให้ เจ้ากรรมนายเวร พอใจได้สูงสุดนั้น แท้ที่จริงก็คือ คู่กรรมคู่เวรของเรานั้น มีอยู่อีกเป็นจำนวนมากมายมหาศาล นับไม่ถ้วน 

แม้เราจะสร้างบุญ ในทาน ในศีล ให้มากมายเพียงใด เท่าไหร่ก็ไม่พอแจกจ่ายให้เขาเหล่านั้น ได้รับบุญเอาไว้ทั้งหมด

🌟นอกจากนั้น ยังมีเจ้ากรรมนายเวรอีกจำนวนมาก ที่ไม่สามารถมารับบุญที่เราได้อุทิศไปให้ได้ เพราะตัวเขาเองยังต้องชดใช้กรรมอยู่ในภพภูมิอื่น ยังไม่ถึงเวลารับบุญนั้นไป

 กรรมของเรา ก็ยังไม่ได้รับการอโหสิกรรมง่ายๆ เสียที ต้องติดค้างกันอยู่เรื่อยๆไป เหมือนกับเราเป็นหนี้ แล้วพยายามเอาเงินไปคืนเจ้าของบ้าน

 โดยที่ทุกอย่างมีความสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างตั้งแต่ เงินที่ได้มา เจตนาจะเอาให้คืน แต่พอไปถึงเจ้าหนี้กลับไปอยู่บ้านเสียอย่างนั้น

🌟การเจริญภาวนา เป็นการทำให้เราหลุดพ้น จากเงื่อนไขทั้งหลายของเจ้ากรรมนายเวรทั้งปวง เป็นทางไปสู่การนิพพาน

 เพราะเมื่อเราสามารถหลุดพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว กรรมของคู่กรรมคู่เวร ก็ตามไปส่งผลให้ไม่ถึง เพราะไม่รู้จะส่งให้ใคร ไม่มีรูปนั้นเหลืออยู่อีกแล้ว

 จึงต้องยุติกรรมนั้นไปเสีย ยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรมก็เช่น เราเป็นเจ้าหนี้ไปตามทวงลูกหนี้แต่ปรากฏว่า ลูกหนี้กลับตายเสียแล้ว แม้อยากจะตามไปทวงถึงไหนๆ ก็ไม่อาจจะไปตามเอาคืนได้อีก


🌈แล้วการเจริญภาวนาแบบใด ที่ทำให้หลุดพ้นจากคู่กรรมคู่เวร ?

การบำเพ็ญภาวนาที่ถูกวิธีนั้นมีอยู่ 2 แบบ คือ การทำสมาธิ และ การเจริญปัญญา

🌟การทำสมาธิ คือ การกำหนดใจให้นิ่ง กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อยู่เป็นอารมณ์เดียว ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตาม ขอให้เพียงแต่ใจอยู่นิ่งไม่วอกแวก ก็คือเป็นสมาธิ เช่นการไหว้พระ สวดมนต์ จิตก็จะนิ่ง
อยู่ที่บทสวด หรือการนั่งสมาธิ จิตก็จะนิ่งอยู่ที่ลมหายใจ

 อย่างนี้ ก็ถือว่าเป็นสมาธิ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการชำระจิต ให้สะอาดที่อยู่ในกมลสันดาน ของแต่ละคน

 เมื่อจิตอยู่นิ่งแล้วก็เกิดความง่ายที่จะทำให้สะอาดเพราะรู้ว่าจิตอยู่ตรงไหน จากนั้นจึงค่อยใช้ การเจริญปัญญา เป็นการซักฟอกให้สะอาดหมดจดในชั้นต่อไป

🌟การเจริญปัญญานั้น ต่างไปจากความเป็นสมาธิ ตรงที่สมาธิเป็นเพียงการทำใจให้สงบนิ่ง อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่เพียงอารมณ์เดียว แน่นิ่งอยู่อย่างนั้น โดยไม่ได้นึกคิดอะไร

 แต่การเจริญปัญญา (คำพระท่านว่า วิปัสสนา) ไม่ใช่ทำให้แค่จิตใจตั้งมั่น อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น

🌟การเจริญปัญญาเป็นการคิด “ใคร่ครวญ” เพื่อหาเหตุผลในสภาวะที่เป็นธรรม และความจริงในแต่ละสรรพสิ่งว่า สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป (อนิจจัง), 

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์ (ทุกขัง) คือทุกอย่างเป็นสภาพที่ไม่อาจทนอยู่ในสภาพเดิมได้ เกิดขึ้นแล้ว ไม่อาจทรงตัว ต้องเปลี่ยนแปลงไป ทำให้อารมณ์ เกิดความเปลี่ยนแปลง ตามก่อให้เกิดความทุกข์ตามมา  และสุดท้ายคือ ทุกสิ่งไม่มีตัวตน และไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน หรือเป็นของๆ ใครใดๆ ทั้งสิ้น (อนัตตา)

🌟เมื่อใดก็ตามที่เราพิจารณาสิ่งต่าง ๆ รอบตัวให้เป็นไปตามที่กล่าวมานี้ได้ก็ถือได้ว่า ได้ทำการชำระจิต ให้หมดจด จนบริสุทธิ์ที่แท้เพราะจิตใจ สามารถยอมรับ สภาพความจริงทั้งหลาย และความเป็นไปทั้งหลาย ของโลกได้โดยดุษณี

🌟การเจริญภาวนานี้ได้ ก็ขอให้ฝึกนั่งสมาธิ อย่างน้อยๆวันละ 15 นาที เป็นการฝึกจิตใจให้นิ่ง 

อานิสงส์ที่ได้ ก็จะทำให้ได้สติปัญญาที่เฉลียวฉลาด และมีความสามารถปล่อยวาง จากทุกสิ่งได้ง่าย เข้าใจในความเป็นไป ของกรรม จิตใจจะรู้ วิธีการแก้ปัญหาต่างๆได้ โดยอัตโนมัติ

 เช่นเมื่อคู่กรรมคู่เวร ตามมาถึง เพื่อทวงคืนหนี้ ที่ได้ติดค้างไว้ ก็จะใช้ปัญญา ในการแก้ปัญหา ได้อย่างตรงไปตรงมา

เมื่อชำระหนี้กรรมกันได้ เป็นที่เข้าใจ และรับรู้ต่อกันแล้ว ก็ทำการอโหสิกรรม ให้แก่กัน ก็ถือว่าหมดเวร หมดกรรมกันไป

🌟แต่ทว่าการเพียรสร้างบุญด้วยวิธีการทั้ง 3 ประการ ที่กล่าวมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำให้คู่กรรมคู่เวรทั้งหลาย ได้ยกโทษและอโหสิกรรม ให้กับเราได้ทั้งหมด ในทันที ต้องอาศัย หลักสำคัญอีก 3 ประการเป็นองค์ประกอบคือ

➡️1. มีความสม่ำเสมอในบุญ

🌟การทำบุญนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก กว่าทำบาป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เหลือวิสัย จนไม่สามารถทำได้ 

 ในเมื่อคู่กรรมคู่เวรของเรา มีมากมายมหาศาล ทั้งในปัจจุบันชาติ และอดีตชาติ รวมไปถึงผู้ที่ยังรอ ให้เราส่งบุญไปให้อีก

 การกระทำบุญทั้ง 3 แบบ ทาน ศีล ภาวนา นั้นต้องมีความสม่ำเสมอ  เหมือนกับเวลาที่เราทำงานประจำของเรา

🌟คำว่างานประจำก็คือ ต้องทำอยู่ประจำทำทุกเมื่อเชื่อวัน จึงจะเกิดความชำนาญ บุญก็เช่นเดียวกัน ต้องมีความสม่ำเสมอ ในการสร้างบุญ

 บุญนั้นก็จะได้พอกพูนขึ้นมาเรื่อยๆ และเวลานำไปใช้ ก็จะมีความชำนาญ ในการใช้ ไม่ให้เสียไป โดยเปล่าประโยชน์เช่นกัน

➡️2. มีความมากพอในบุญ

 นอกจากมีความสม่ำเสมอแล้ว การทำบุญก็ต้องมีความมากพอ ที่จะนำบุญนั้น ไปอุทิศให้กับ เจ้ากรรมนายเวร ได้ให้มากที่สุด

 ผลของการรับบุญ ก็จะทำให้คู่กรรมคู่เวร อโหสิกรรมให้ได้มาก ตามบุญที่ได้แจกจ่ายออกไป

 เปรียบเทียบเหมือนเราตักน้ำใส่ตุ่มน้ำที่บ้าน เราต้องตื่นมาแต่เช้าและทำเป็นประจำเสมอ

 แต่ถ้าเราตักน้ำใส่เป็นประจำ เพียงแค่วันละขัน มันก็ยังน้อยเกินไป ไม่พอจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ ถ้าจะให้มากพอ ให้มันเต็มตุ่ม ในแต่ละวันก็ต้องตักวันละหลายๆ ถัง

 บุญก็เช่นเดียวกัน ขอให้สร้างให้มากพอ ที่จะอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย และเป็นเสบียงเหลือไว้ให้เราติดตัว เก็บไว้ใช้เวลาเดือดร้อนอีกด้วย

➡️3. มีความนานพอ

🌟อย่างที่กล่าวไว้ว่า คู่กรรมคู่เวร มีมากมายมหาศาล จะเอาน้ำที่เป็นบุญเพียงตุ่ม หรือสองตุ่ม ไปแบ่งไปแจกจ่ายให้เขากิน เพื่อคลายทุกข์คลายร้อน ดับกระหายเพียงแค่นั้น ยังไม่พอยังต้อง “สะสม” มันไปเรื่อย ๆ

 ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ กฎแห่งความสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับ 3 ข้อนี้เท่านั้นทุกความสำเร็จจะต้องใช้เวลาสะสมในตัวของมันเอง เมื่อสร้างบุญได้สม่ำเสมอ, มากพอ, และนานพอ ก็จะทำให้บรรลุธรรมถึงขั้นสูงสุดอันคือ พระนิพพานได้

🌈การบรรลุพระนิพพาน เป็นเหตุให้บุคคลสิ้นเวรสิ้นกรรม สิ้นบาปสิ้นบุญ หมดแล้วทุกอย่างในโลก 

เหมือนดังที่พระพุทธเจ้าของเรา ได้บำเพ็ญเพียรสร้างบุญมากว่า 500 ชาติ และใน สิบชาติสุดท้าย ก็ได้บำเพ็ญสร้าง “มหาทศบารมี” จนในชาติสุดท้าย พระองค์ก็ตรัสรู้สิ้นเวรกรรมในโลกและหลุดพ้นไปในที่สุด

-----------------
Cr.ศูนย์อบรมเยาวชนเพชรบุรี

วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ตายแล้ว…ไปไหน?

ตายแล้ว…ไปไหน? บทความจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญโญ

มีคนจำนวนไม่น้อยสงสัยกันว่า คนเรา ตายแล้วไปไหน เกิดใหม่หรือไม่ หากเกิดใหม่ จะไปเกิดที่ใด


บางศาสนาที่เป็นเทวนิยม เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้ลิขิตชีวิตคน เช่น ศาสนาคริสต์ อิสลาม เชื่อว่า เมื่อคนตายไปแล้วยังไม่ไปเกิด วิญญาณจะถูกพักไว้ และจะคืนชีพอีกครั้งในวันพิพากษา เพื่อให้พระเจ้าตัดสินว่าวิญญาณดวงนั้นจะไปนรกหรือสวรรค์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเมตตาและความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าของบุคคลนั้น

สำหรับศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ซึ่งเชื่อว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลกและลิขิตชีวิตคน เชื่อว่าคนที่ตายไปแล้วจะไปเวียนว่ายตายเกิดเพื่อชดใช้กรรม หมดกรรมเมื่อใด (บำเพ็ญตบะ) ก็จะไปอยู่ร่วมกับพระพรหมบนสวรรค์

ส่วนพุทธศาสนาซึ่งมิใช่เทวนิยม พระพุทธเจ้ามิได้เป็นผู้สร้างโลก หรือเป็นผู้ลิขิตชีวิตของสัตว์โลก พระพุทธองค์ทรงสอนให้เชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กัน (หลักปฏิจจสมุปบาท) เช่น ต้นข้าวเป็นเหตุให้เกิดรวงข้าว รวงข้าวเป็นเหตุให้เกิดเมล็ดข้าว เมล็ดข้าวเป็นเหตุให้เกิดต้นข้าว เป็นวงจรต่อเนื่องกัน หากทำลายเชื้อพันธุ์ที่อยู่ในเมล็ดข้าวเสียต้นข้าว ก็จะไม่เกิดอีก เหมือนทำลายอวิชชาหรือทำลายความไม่รู้อันเนื่องจากตัณหาครอบงำจิต การเกิดก็หมดไป

คนที่ตายแล้วจะไปเกิดที่ใดนั้นขึ้นอยู่กับวาระสุดท้ายของจิต หากขาดใจตายขณะจิตเศร้าหมอง ปฏิสนธิวิญญาณก็จะนำไปเกิดในทุคติภพหรืออบายภูมิ 4 อันมีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน (จิตฺเตสงฺกิลิฏฺเฐฺ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา) หากตอนจะตาย จิตผ่องใส ปฏิสนธิวิญญาณก็จะนำไปเกิดในสุคติภพ อันมีมนุษย์ 1 สวรรค์ 6 ชั้น พรหม 20 ชั้น (จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐฺ สุคติ ปาฏิกงฺขา) หาก จิตหมดกิเลสตัณหา คือจิตของพระอรหันต์ ก็ไม่มีการเกิดอีก

คนตายจะไปเกิดหรือไม่ และไปเกิด ณ ที่ใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาวะจิตของเขา หาใช่มีผู้อื่นมาลิขิตไม่ ใครสร้างเหตุไว้เช่นใดย่อมจะได้รับผลเช่นนั้น พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ว่าด้วยเหตุและผลสอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์

ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์ เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (ค.ศ. 1879-1955) จึงยอมรับและกล่าวถึงพุทธศาสนาว่า “ศาสนาในอนาคตควรจะเป็นศาสนาที่เป็นสากล (cosmic religion) โดยไม่ยึดติดกับพระเจ้าหรือกฎเกณฑ์ข้อปฏิบัติอันเคร่งครัด จะต้องเป็นศาสนาที่มีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ของทุกสรรพสิ่ง ทั้งที่เป็น ธรรมชาติและจิตวิญญาณ ที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งหมดนี้จะหาคำตอบได้จากพุทธศาสนา



“ถ้าจะมีศาสนาใดศาสนาหนึ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้

“ศาสนานั้นน่าจะเป็นพุทธศาสนา”

[The religion in the future will be a cosmic religion. It should transcend a personal God and avoid dogma and theology. Covering both the natural and the spiritual, it should be based on a religious sense arising from the experience of all things natural and spiritual, as a meaningful unity Buddhism answers this description…

If there is any religion that would cope with modern scientific needs, it would be Buddhism.]

พระพุทธองค์ตรัสว่า (สัตว์) โลก ถูกจิตนำไป (จิตฺเตน นียติ โลโก) หมายความว่า จิตเป็นผู้นำพาชีวิตไป ดังจะเห็นว่าความคิดนำไปสู่คำพูดและการการทำ คนเราจะสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่วก็ขึ้นอยู่กับจิตของแต่ละคน

 ธรรมชาติของจิตนั้นคิดได้สารพัดอย่าง ทั้งในทางที่ดีและชั่ว คิดถึงสิ่งใดก็นำพาชีวิตไปผูกพันอยู่กับสิ่งนั้น นอกจากนี้จิตยังเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกได้เร็วมาก แค่แวบเดียวเท่านั้นก็เปลี่ยนอารมณ์ จากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งแล้ว

แต่ถ้าตอนจะสิ้นใจ จิตเศร้าหมอง เช่น ทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวด กลัวตาย ว้าวุ่นสับสน หงุดหงิด ขุ่นเคือง โกรธ อารมณ์เสียกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือห่วงบุคคลอันเป็นที่รัก ห่วงสมบัติวัตถุ หน้าที่การงานต่าง ๆ คิดถึงสิ่งที่ไม่ดี หรือเห็นภาพ ได้ยินเสียง ได้กลิ่นที่ไม่ดีเข้ามา เป็นต้น จิตเศร้าหมองเช่นนี้ ปฏิสนธิวิญญาณจะนำไปเกิดในอบายภูมิ เป็นเช่นนี้กับทุก ๆ ชีวิต เท่ากับว่าแต่ละคนเป็นผู้เลือกเกิดเอง ลิขิตชีวิตของตนด้วยการกระทำของตนเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ลองคิดดูเถิดว่า โอกาสที่คนใกล้ตายจะมีจิตผ่องใสกับจิตเศร้าหมองนั้น อย่างไหนจะมากกว่ากัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า การได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นลาภอันประเสริฐ เพราะเป็นของยากยิ่ง (กิจฺโฉมนุสฺสปฏิลาโภ) ที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้น เป็นเพราะสัตว์โลกในภพภูมิต่าง ๆ เวียนว่ายตายเกิดถ่ายเทกัน สัตว์ก็เกิดเป็นคนได้



ถามว่า การทำทาน รักษาศีลช่วยปิดประตูอบายภูมิ (ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิ) ได้หรือไม่?

ตอบว่ายังไม่ได้ เพราะ ทาน และ ศีล ยังไม่ใช่หลักประกันว่าตอนใกล้ตายจิตจะไม่เศร้าหมอง หลักประกันที่จะปิดประตูอบายภูมิได้ จะต้อง ภาวนา หรือปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานจนเป็น พระอริยบุคคล คือถ้าเป็น พระโสดาบัน และ พระสกทาคามี จิตเข้าทางตรงแล้วจะตายอย่างไม่หลงไปในอารมณ์เศร้าหมอง

 ชาติต่อไปจะเกิดเป็นมนุษย์หรือเกิดบนสวรรค์ เจริญภาวนาอีกไม่เกิน 7 ชาติ ก็จะเป็นพระอรหันต์ ถ้าเป็น พระอนาคามี จะไปเกิดบนพรหมโลก เรียกว่าสุทธาวาสพรหม (พรหมชั้นที่ 12-16) และจะไปบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ที่นั่น ถ้าเป็น พระอรหันต์ ก็ไม่มีการเกิดอีก

ถามว่า บางคนอุตส่าห์ทำความดีไว้ตั้งมากมาย เช่น ทำทาน รักษาศีล บาป อกุศลก็เคยทำบ้าง แต่ไม่มากนัก ตอนตายเกิดพลาดพลั้งจิตมีอารมณ์เศร้าหมองพาไปเกิดในอบายภูมิ อย่างนี้ก็ไม่ยุติธรรม



ความจริงแล้วกฎธรรมชาติให้ความเป็นธรรมอยู่เสมอ เขาไปเกิดในอบายภูมิ เป็นเพราะจิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้นนำไปเกิด ไม่ได้มีใครลิขิต หากทำบุญกุศลไว้มาก ผลบุญจะตามไปอุปการะช่วยให้ทุคติภพที่ไปเกิดสั้นลง เช่น ไปตกนรกไม่นาน ถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉาน หากสมัยเป็นคนเคยทำทานไว้มาก ก็จะไม่อดอยาก บางทีมีคนนำไปเลี้ยงดูอย่างดี หากสมัยเป็นคนเคยรักษาศีลมาดี ก็จะเป็นสัตว์ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีสัตว์อื่นหรือคนมาเบียดเบียน หากสมัยเป็นคนเป็นผู้ที่มีปัญญาเฉลียวฉลาด ก็จะเป็นสัตว์ที่ฉลาด เป็นต้น

พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ว่าด้วยความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติ พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้ความจริงที่มีอยู่แล้ว ก็นำสิ่งที่รู้มาแสดง ชี้ทางให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติ หากต้องการความสำเร็จ ก็ต้องหมั่นเพียรทำเอาเอง คนอื่นทำให้ไม่ได้

 พุทธศาสนาได้ทำลายเครื่องจองจำความคิดของมนุษย์ที่ถูกสอนให้เชื่อมาแต่โบราณว่ามีอำนาจพิเศษที่ลิขิตชีวิตของตน จึงวิงวอนร้องขอต่ออำนาจนั้น โดยขาดความเชื่อมั่นในคุณค่าของตน ทำให้ไม่ขวนขวายที่จะพัฒนาตนเองอย่างจริงจัง

หากเป็นชาวพุทธ แต่ไม่ได้ศึกษาหลักธรรมและไม่ได้นำสิ่งที่มีค่ามาปฏิบัติ การเป็นชาวพุทธก็ว่างเปล่า

Cr.goodlifeupdate

ทำไมต้องทำบุญให้ผู้ตาย ในช่วง 7, 50, 100 วัน???

ในครอบครัวของคนไทยเมื่อมีคนตาย ก็จะมีประเพณีทำบุญ 7, 50, 100 วัน 


ที่มาของเรื่องนี้ คือ ความรู้ที่ได้จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ชีวิตหลังความตาย (โลกหน้า)

มีความสุขอยู่ได้ด้วยบุญที่ทำตอนเป็นมนุษย์ และบุญที่หมู่ญาติมิตรอุทิศไปให้

ถ้าผู้ตายละสังขารไปด้วยสภาพใจที่ไม่เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส กายละเอียดที่ไปเกิดจะหลุดออกมาจากกายหยาบ
  
ช่วง 7 วันนี้ เป็นช่วงที่รอผลของบุญ และบาปส่งผล กายละเอียดสามารถรับบุญได้เต็มที่ จึงนิยมรีบทำบุญอุทิศไปให้

 เพื่อว่าบุญจะเข้าไปแทรกในใจของกายละเอียด แทนที่ความเศร้าโศก สับสน ให้มีสติระลึกนึกถึงบุญที่เคยทำมา รวมกับบุญที่อุทิศไปให้ จะนำกายละเอียดไปเกิดตามกำลังบุญ

แต่ถ้าบุญที่อุทิศไปให้ยังไม่มากพอ เมื่อครบ 7 วัน เจ้าหน้าที่จากยมโลกจะมาพากายละเอียดไปสู่ยมโลก 

ซึ่งเป็นนรกขุมบริวาร เป็นสถานที่ตัดสินพิพากษากายละเอียดที่ตายด้วย สภาพใจไม่ผ่องใส ไม่เศร้าหมอง
 และบุญ บาปยังไม่ได้ช่องส่งผล

เมื่อผ่านประตูยมโลกแล้ว ต้องไปยืนรอที่ลานกว้าง เพราะมีกายละเอียดจากทั่วโลกไปเป็นจำนวนมาก

ในช่วงนี้ ใช้เวลาประมาณ 50 วันในมนุษยโลก ถ้าทำบุญใหญ่อุทิศไปให้ แล้วบุญมากพอ บุญจะไปช่วยเอากายละเอียดกลับมาเกิดตามกำลังบุญได้

แต่ถ้าบุญยังไม่มากพอ ในช่วง 50-100 วัน เป็นช่วงที่เข้าไปสู่การตัดสินพิพากษาผลบุญ บาป 

ถ้าทำบุญใหญ่อุทิศไปให้ ขณะที่กายละเอียดนั่งอยู่หน้าบัลลังก์
 รอการพิจารณาจากพญายมราช บุญจะไปปรากฎที่จอหน้าบัลลังก์

 บุญจะได้ช่องส่งผลก่อน ช่วยเอากายละเอียดมาเกิดในภพภูมิที่ดีขึ้นตามกำลังบุญ

กรณีที่กล่าวมาข้างต้น เฉพาะสำหรับกายละเอียดที่ไปยมโลกเท่านั้น   แต่ถ้าผู้ตายไปเทวโลกแล้ว จะรับบุญได้ทันที
 ทั้งในช่วง 7, 50, 100 วัน

ถ้าผู้ตายปลูกฝังให้ลูกหลานให้มีศรัทธา ตายแล้วก็ยังได้รับบุญเพิ่ม แต่ถ้าไม่ได้ปลูกฝังให้ลูกหลานให้มีศรัทธา 

ก็คงต้องร้องเพลง
  “ยังคอย ยังคอย ยังคอยเธออยู่ 
ทุกลมหายใจ…” ให้พญายมราชฟัง

Cr.Fb Dhammavipulo

วันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

วันอาสาฬหบูชา สำคัญอย่างไร?? >> เราชาวพุทธควรถือเป็นหน้าที่อันสำคัญยิ่ง!!

ประวัติความเป็นมา ความสำคัญ และธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับวันอาสาฬหบูชาปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2560


ประวัติวันอาสาฬหบูชา 

  วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ในสมัยพุทธกาลมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการ ดังต่อไปนี้

 1.เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 รูป ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี

 2.เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงได้พระสาวกองค์แรก คือ ท่านโกญฑัญญะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันองค์แรก



 3.เป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นรูปแรก คือ พระอัญญาโกญฑัญญะ หลังจากที่ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว จึงทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงประทานการอุปสมบท ยกขึ้นเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา

 4.เป็นวันเกิดขึ้นของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นพยานในการตรัสรู้ธรรม ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระพุทธองค์ก็ครบถ้วนบริบูรณ์ 


ความเป็นมาของวันอาสาฬหบูชา

  วันอาสาฬหบูชา เริ่มต้นจากในครั้งพุทธกาล หลังจากพระศาสดาตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน 6 แล้วทรงเสวยวิมุตติสุข คือ ความสุขจากการหลุดพ้นเป็นเวลา 7 สัปดาห์ หลังจากนั้นทรงพระปริวิตกว่า ..
 ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก หมู่สัตว์ที่ยังมีกิเลสหนายากที่จะรู้เห็นตามได้ 

 ท้าวสหัมบดีพรหมทรงทราบความปริวิตกของพระองค์ จึงมาทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์ที่มีธุลีในจักษุน้อยยังมีอยู่



  เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยพระมหากรุณาในหมู่สัตว์ผู้ยังเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในภพสาม จึงทรงตรวจดูหมู่สัตว์ด้วยพุทธจักษุ ทรงเห็นหมู่สัตว์ที่มีกิเลสน้อยก็มี มีกิเลสมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี ที่สอนง่ายก็มี สอนยากก็มี


 เหมือนดอกบัวที่เกิดและเจริญเติบโตในน้ำ บางพวกก็อยู่ในน้ำลึก บางพวกก็อยู่เสมอน้ำ บางพวกก็พ้นจากน้ำแล้ว คือ บางจำพวกยังไม่พร้อมที่จะบาน บางจำพวกก็พร้อมที่จะบาน เช่นเดียวกันกับหมู่สัตว์ที่พอสอนได้ก็มีอยู่ จึงทรงรับอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม

  เมื่อท้าวสหัมบดีพรหมกลับไปสู่พรหมโลกแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงดำริว่า ..

“เราจะแสดงธรรมแก่ใครก่อน ใครจะพึงรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้เร็ว” 

ทรงดำริต่อว่า ..

“อาฬารดาบสและอุทกดาบส เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม มีกิเลสเบาบางมานาน หากได้ฟังธรรมก็จะพึงรู้ทั่วถึงธรรมได้เร็ว เราควรแสดงธรรมแก่ท่านทั้งสองก่อน”  


 เทวดาตนหนึ่งทราบพระดำริของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงอันตรธานจากวิมานมากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดาบสทั้งสองนั้นได้สิ้นชีวิตแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูก็ทรงทราบว่า ดาบสทั้งสองนั้นสิ้นชีพแล้ว จึงทรงดำริว่า “พระดาบสทั้งสองเป็นผู้ประสบความเสื่อมอย่างใหญ่แล้ว

 เพราะถ้าเขาได้ฟังธรรมก็จะพึงรู้ได้ตลอดทั้งหมดโดยฉับพลัน” ครั้นแล้ว จึงทรงดำริถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ผู้มีอุปการะแก่พระองค์มาก ได้ตามมาอุปัฏฐากเมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้ จึงเสด็จไปโปรด ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน



  ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล จึงได้นัดหมายกันและกันว่า ..

 “ท่านทั้งหลาย พระสมณโคดมนี้เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก กำลังเสด็จมา พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ ไม่พึงรับบาตร จีวร ของพระองค์ เพียงแต่วางอาสนะไว้ก็พอ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จะประทับนั่ง”

  ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปถึง ด้วยพุทธานุภาพจึงทำให้เหล่าปัญจวัคคีย์นั้นไม่ตั้งอยู่ในกติกาของตน ต่างลุกขึ้นต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้า รูปหนึ่งรับบาตร จีวร ของพระผู้มีพระภาคเจ้า รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งวางตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย

 พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่ปัญจวัคคีย์จัดถวาย แล้วทรงล้างพระบาท หลังจากดูแลต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พวกปัญจวัคคีย์ได้เรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยระบุพระนาม และใช้คำว่า “อาวุโส”

  เมื่อพวกปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสห้ามเหล่าปัญจวัคคีย์ว่า ..



“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเรียกตถาคตโดยระบุชื่อ และอย่าใช้คำว่า อาวุโส ดูก่อนท่านทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว พวกท่านจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกท่านปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าก็จะทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์”

  เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว เหล่าปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ..

 “อาวุโสโคดม ที่ผ่านมานั้นท่านได้บำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างยิ่งยวด แต่ก็ยังไม่อาจบรรลุธรรมอันประเสริฐ ก็บัดนี้ท่านเป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจะบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เล่า”

  เมื่อพวกปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ..

 “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ใช่เป็นคนมักมาก ไม่ได้เป็นคนคลายความเพียร ไม่ได้เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ดูก่อนท่านทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกท่านจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกท่านปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าก็จะทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์”

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเช่นนี้ถึง 3 ครั้ง แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสต่อไปอีกว่า ..

 “ดูก่อนท่านทั้งหลาย ถ้อยคำเช่นนี้เราไม่เคยพูดที่ไหนมาก่อน เราเพิ่งพูดในบัดนี้เท่านั้น” / ประวัติวันอาสาฬหบูชา 

   พวกปัญจวัคคีย์ เมื่อได้ฟังถ้อยคำยืนยันอย่างหนักแน่น จึงยินยอมเชื่อฟังและตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ตรัสถึงข้อปฏิบัติ 2 อย่างที่บรรพชิตไม่พึงปฏิบัติ ได้แก่

   1. การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

   2. การทรมานตนเองให้ลำบาก สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
  


  และทรงยกย่องทางสายกลาง คือ ข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8 และ อริยสัจ 4 จบพระธรรมเทศนา ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ด้วยเหตุนี้เอง พระรัตนตรัยจึงได้บังเกิดขึ้นครบถ้วนเป็นครั้งแรก

ปฐมเทศนาในวันอาสาฬหบูชา

  วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ คือ วันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์

  การที่ปฐมเทศนานี้ ได้รับการขนานนามว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตรดังกล่าว ก็เนื่องด้วยปฐมเทศนานี้ เปรียบประดุจธรรมราชรถ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงปรารถนาจะใช้บรรทุกสรรพเวไนยสัตว์ทั้งหลาย  ออกจากห้วงวัฏสงสาร ไปสู่แดนเกษม คือพระอมตนิพพาน

 โดยมีพระพุทธองค์ทรงเป็นสารถี ส่วนประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้รถแล่นไปสู่ที่หมายก็คือ ล้อรถหรือที่เรียกว่า จักร นั่นเอง ดังนั้น ล้อแห่งธรรมราชรถจึงได้ชื่อว่า จักรธรรม หรือ ธรรมจักร

  ตามธรรมดา “ล้อ” หรือ “จักร” ย่อมประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือดุม กำ และ กง ส่วน “จักรธรรม” นี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาเปรียบโพธิปักขิยธรรมเป็นดุม ปฏิจจสมุปบาทธรรมเป็นกำ และอริยสัจ ๔ เป็นกง

  สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้ คือ การประกาศทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา)

 ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่เอียงไปทางกามสุขัลลิกานุโยค อันเป็นการประกอบตนแสวงหาความสุขจากกามคุณทั้ง ๕ และไม่เอียงไปทางอัตตกิลมถานุโยคอันเป็นการทรมานตนโดยหาประโยชน์มิได้

 ซึ่งข้อปฏิบัติทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทานี้เป็นข้อปฏิบัติอันเป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดีเพื่อความดับตัณหา เพื่อพ้นไปจากข้าศึก คือ กิเลส

 เป็นทางของพระอริยเจ้าผู้ละจากสภาวะฆราวาสออกบรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้วพึงปฏิบัติตามหนทางสายกลางนี้เท่านั้น

 ซึ่งมัชฌิมาปฏิปทานี้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ(Meditation)


 มัชฌิมาปฏิปทานี้เป็นแนวปฏิบัติอันเป็นปัจจัยให้เจ้าชายสิทธัตถะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตรัสรู้เป็น พระสัพพัญญูพุทธเจ้า และทำให้ประจักษ์แจ้งในอริยสัจ ๔ อันประกอบด้วย


   ๑. ทุกขอริยสัจ คือ ทุกข์อย่างแท้จริง

   ๒. ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ เหตุให้เกิดทุกข์อย่างแท้จริง


   ๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความดับทุกข์อย่างแท้จริง


   ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง


   ญาณทัสนะในอริยสัจ ๔ อันมีรอบ ๓ อาการ ๑๒ ของพระองค์นั้นหมดจดดีแล้วพระพุทธองค์จึงทรงกล้ายืนยันว่า พระองค์ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมทั้งในโลกมนุษย์ เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ หมู่สมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ อาสวกิเลสของพระองค์ไม่กลับกำเริบขึ้นอีกแล้ว พระชาตินี้เป็นที่สุด จะมีภพใหม่อีกก็หาไม่

  จากหลักฐานอันมีปรากฏอยู่นั้น พบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง ๕ เป็นปฐมแล้ว มิได้ตรัสแสดงสูตรนี้อีกเลยตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาแห่งการตรัสเทศนาเผยแผ่พระศาสนานั้น

 ล้วนแต่ทรงแสดงธรรมกถาขยายความแห่งปฐมเทศนาในแต่ละหมวดโดยเอกเทศ ยิ่งกว่านั้นยังเป็นที่ทราบกันทั่วไปในหมู่นักปราชญ์ทั้งหลายว่า การตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตรเป็นปฐมนี้ ถือเป็นพระประเพณีแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์



  การแสดงปฐมเทศนาในครั้งนั้นทำให้โกณฑัญญพราหมณ์ผู้เป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุเป็นพระโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก

  และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลเป็นท่านแรก จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกวันนี้ว่า “วันพระธรรม” หรือ “วันพระธรรมจักร” อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรกและ “วันพระสงฆ์” คือ วันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

ธรรมเนียมปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา 
    จากความสำคัญของวันอาสาฬหบูชาข้างต้นนี้ ทำให้ปู่ย่าตายายท่านจับหลักได้ว่า การเรียนสรรพวิชาใดๆ ก็ตาม ผู้ที่จะแตกฉานลึกซึ้งในความรู้นั้นได้
 มีความจำเป็นต้องศึกษาแม่บทให้แตกฉานก่อน เช่น ถ้าเป็นวิชาคำนวณในทางโลกต้องใช้สูตรคูณเป็นแม่บท ในทางธรรมก็เช่นเดียวกัน การที่จะศึกษาธรรมะให้แตกฉาน ต้องศึกษาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นแม่บททางธรรม



   ปู่ย่าตายายท่านจับหลักตรงนี้ได้ เมื่อถึงวันอาสาฬหบูชา ท่านจึงขวนขวายไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนาเรื่องธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เพื่อเป็นการทบทวนแม่บทธรรมะทั้งหมดใน พระพุทธศาสนาให้เข้าใจและซาบซึ้งยิ่งขึ้น

   ข้อคิดที่ได้จากตรงนี้คือ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม จะต้องมีหลักการที่ชัดเจน มีแม่บทที่ชัดเจน ที่ทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติตาม และหลักการนั้นจะต้องสอดคล้องกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาด้วย

 อีกทั้งต้องถูกนำมาประพฤติปฏิบัติ จนกระทั่งหลักการที่ดีเหล่านั้นกลายเป็นนิสัยประจำตัว นิสัยประจำชาติ จึงจะส่งผลให้ตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติเจริญขึ้น และสงบสุขอย่างยั่งยืน


   ในวันอาสาฬหบูชานี้ ชาวพุทธควรถือเป็นหน้าที่อันสำคัญยิ่งที่จะพึงประกอบการบูชาทั้งส่วนอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา โดยเฉพาะการปฏิบัติบูชานั้น ควรปฏิบัติตนตามหลักธรรมในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันได้แก่ .. 

...มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติสายกลาง คือ อริยมรรค 8 กล่าว โดยสรุปก็คือ ควรปฏิบัติตนให้มีศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อปฏิบัติได้ดังนี้ ชื่อว่าได้บูชาพระพุทธองค์ ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

Cr.dmc.tv