วันมาฆบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓
ตรงกับวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2559
คำว่า "มาฆะ" นั้น เป็นชื่อของเดือน ๓ ย่อมาจากคำว่า "มาฆบุรณมี" หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดียหรือเดือน ๓ ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" แก่พระภิกษุสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ที่มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย โดยมีเนื้อหาว่า
"ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำใจให้บริสุทธิ์"
หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติคือ "โอวาทปาติโมกข์" ซึ่งเป็นหลักคำสอนสำคัญอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพื่อไปสู่ความหลุดพ้น หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ และวิธีการ ๖ ดังนี้
หลักการ ๓
ได้แก่
๑.
การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิกทำบาปทั้งปวง
๒.
การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตามกุศลกรรมบท 10 ทั้งความดีทางกาย ความดีทางวาจา และความดีทางใจ
๓.
การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่ขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสังสัย
อุดมการณ์
๔ ได้แก่
๑.
ความอดทน อดกลั้น คือ งดเว้นจากการทำร้าย หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
๒.
ความไม่เบียดเบียน คือ งดเว้นจากการทำร้าย หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
๓.
ความสงบ ได้แก่ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
๔.
นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา
วิธีการ ๖ ได้แก่
๑. ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้าย โจมตีใคร
๒. ไม่ทำร้าย คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
๓. สำรวมในปาติโมกข์ คือ เคารพระเบียบวินัย กฎกติกา รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม
๔. รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดีในการบริโภค รวมทั้งการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
๕. อยู่ในสถานที่สงัด คือ อยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
๖. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิตใจให้สงบ มีประสิทธิภาพที่ดี
ดังนั้นเราในฐานะพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งโลกควรที่จะลด ละ เลิกอกุศลทุกชนิดหมั่นสร้างแต่คุณความดีให้เพิ่มพูนและในวาระโอกาสวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้ขอเชิญทุกท่านชักชวนหมู่ญาติอันที่รักมาวัดเพื่อร่วมจุดโคมมาฆประทีปเป็นพุทธบูชาโดยพร้อมเพียงกัน
***ขอความรุ่งเรืองในธรรมจงมีแด่ทุกท่านเทอญ...